ตลาดการเงินทั่วโลกจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก (Economic Club of New York) ในคืนวันนี้ (19 ต.ค.) ซึ่งเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มอยู่ในทิศทางที่ดี แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐกลับพุ่งขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม แต่นักลงทุนก็ต้องการคำยืนยันและความชัดเจนจากนายพาวเวลว่า นายพาวเวลและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมีมุมมองอย่างไรต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในระยะยาว
ลุค ทิลลีย์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิลมิงตัน ทรัสต์คาดการณ์ว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ นายพาวเวลจะยังคงระบุว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่พุ่งขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาส 3 นั้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และคาดว่านายพาวเวลจะส่งสัญญาณว่า เฟดจำเป็นจะต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าใดถึงจะสามารถฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ คาดว่านายพาวเวลจะเน้นย้ำจุดยืนเดียวกันกับเจ้าหน้าที่เฟดรายอื่น ๆ ที่ว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในวันข้างหน้านั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับ หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วทั้งสิ้น 5.25% ในการประชุม 11 ครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดในขณะนี้อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี
การกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวถือเป็นการแสดงความเห็นของนายพาวเวลเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดจะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันเสาร์นี้ ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินในช่วง Blackout Period โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC