ธนาคารกลางอิสราเอลมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด ขณะที่นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอลกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจอิสราเอลจะได้รับผลกระทบจากสงครามกับกลุ่มฮามาส แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวในไม่ช้า
ในการประชุมระยะเวลา 2 วันซึ่งเสร็จสิ้นในวันจันทร์ (23 ต.ค.) คณะกรรมการธนาคารกลางอิสราเอลมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้ง
คณะกรรมการธนาคารกลางอิสราเอลได้หารือกันเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ หลังจากกลุ่มฮามาสได้บุกโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. และอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาเพื่อเป็นการตอบโต้
นายยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอลได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินเชเกลอ่อนตัวลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อของอิสราเอลชะลอตัวลงแตะระดับ 3.8% ในเดือนก.ย. จากระดับ 4.1% ในเดือนส.ค. แต่ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางอิสราเอลกำหนดไว้ในกรอบ 1% - 3%
ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
"ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม"
"ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล" มูดี้ส์กล่าว
มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ทั้งนี้ มูดี้ส์เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล หากความขัดแย้งทางทหารในปัจจุบันทำให้สถาบันต่าง ๆ ของอิสราเอลมีความอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบาย รวมทั้งความแข็งแกร่งด้านการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ