เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ของสหรัฐที่ขยายตัว 4.9% นั้น ถือว่าแข็งแกร่งมาก และเฟดควรจับตาข้อมูล GDP อย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป
"ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวแข็งแกร่งมาก และเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ใช้คำนวณตัวเลข GDP ก็พบว่า องค์ประกอบทุกอย่างมีความแข็งแกร่งมากเช่นกัน ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเมื่อเราจะตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันข้างหน้า" นายเวอลเลอร์กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานเฟดสาขาเซนต์หลุยในวันอังคาร (6 พ.ย.)
ทางด้านนางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวเร็วขึ้นและทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
"ดิฉันยังคงมองว่าเฟดจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และดิฉันยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หากข้อมูลที่เฟดได้รับในวันข้างหน้าบ่งชี้ว่าเฟดไม่สามารถฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในเวลาที่เหมาะสมได้" นางโบว์แมนกล่าวในการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนายธนาคารแห่งรัฐโอไฮโอ
ขณะที่นายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในวันอังคารว่า "การจ้างงานที่ชะลอตัวลงในเดือนต.ค.ถือเป็นข่าวดี เนื่องจากจากจะทำให้ตลาดแรงงานกลับสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น แต่การฉุดเงินเฟ้อให้ปรับตัวลงนั้น ถือเป็นภารกิจอันดับแรกของเฟด"
นายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินนีแอโพลิสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในวันอังคาร ขณะนี้เจ้าหน้าที่เฟดซึ่งรวมถึงตัวเขาด้วยนั้น ไม่มีการหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นายนีลยังให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ในวันเดียวกันว่า เฟดอาจจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นจึงจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมายได้ โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าภารกิจการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อของเฟดนั้น ยังไม่เสร็จสิ้น