องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยในวันนี้ (11 ม.ค.) ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำให้นโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ราวระดับเป้าหมายที่ 2% และค่าจ้างมีการขยายตัวอย่างยั่งยืน
OECD ระบุในรายงานประจำปี 2567 เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นว่า ในขณะที่ BOJ ทำการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) เมื่อปีที่แล้วเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวคลายตัวลงนั้น ตลาดก็อาจจะมีปฏิกิริยาต่อนโยบายการเงินของ BOJ อีกครั้ง หากเงินเฟ้อยังคงอยู่เหนือเป้าหมายที่ระดับ 2% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
"ด้วยเหตุนี้ BOJ จึงควรจะเดินหน้าในความพยายามที่จะทำให้ YCC มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี หรือหันไปมุ่งเน้นเป้าหมายอัตราผลตอบแทนระยะสั้น" OECD ระบุ
ทั้งนี้ OECD แนะนำว่า BOJ ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ต้นปี 2567 หากเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ราวระดับเป้าหมาย 2% และค่าจ้างมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
"ญี่ปุ่นกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวสอดคล้องกับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ BOJ มากกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ BOJ เริ่มกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยการที่ BOJ ปรับ YCC ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อย ๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น จะเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม" OECD ระบุในรายงาน