ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมรายไตรมาสในวันนี้ (29 ม.ค.) ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ส่วนการดำเนินการในวันนี้ ธนาคารกลางได้ตัดสินใจคงความชัน, ค่ากลาง และความกว้างของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ที่ระดับเดิม
ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์ว่า "ธนาคารกลางจะจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และจะยังคงเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐิจภายในประเทศ"
การประกาศคงนโยบายการเงินมีขึ้น หลังจากนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์ในปี 2566 ขยายตัว 1.2% ซึ่งสูงกว่าที่กระทรวงการค้าสิงคโปร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวเพียง 1% ซึ่งทำให้สิงคโปร์สามารถรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566
ส่วนในปี 2567 นั้น นายลีคาดว่าตัวเลข GDP ของสิงคโปร์จะขยายตัวราว 1% - 3%
นายลีว่า ปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มจบสิ้นลง พร้อมกับเตือนว่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในต่างประเทศอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตและความมั่นคงของสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการค้าโลก ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุว่า การขยายตัวของ GDP ปี 2567 ของสิงคโปร์จะอยู่ที่ 2.3% ลดลงจากการสำรวจในเดือนก.ย.ซึ่งอยู่ที่ 2.5% ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ซึ่งไม่นับรวมราคาการขนส่งและที่พักอาศัยของภาคเอกชนนั้น จะลดลงสู่ระดับ 3.4% และ 3% ตามลำดับในปี 2567 เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2566