ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า โอกาสที่ BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหาก BOJ มีความมั่นใจว่าค่าจ้างและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม BOJ ก็จะพิจารณายุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและนโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (ultra-loose monetary policy)
ในการประชุมเมื่อวันที่ 22-23 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%
นอกจากนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ "reference point" เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น
ในการประชุมวันดังกล่าว คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารสด สำหรับปีงบประมาณ 2567 ลงสู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ระดับ 2.8% แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มดัชนี Core CPI สำหรับปีงบประมาณ 2568 ขึ้นสู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 1.7%
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการบางส่วนของ BOJ มองว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายที่ระดับ 2% นั้น มีเพียงเล็กน้อย ขณะที่กรรมการอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า หาก BOJ ประวิงเวลาในการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการบรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการ BOJ บางคนได้เสนอให้ยุติการซื้อ กองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น หากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ ได้ประกาศยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและยุติการใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี นอกจากนี้ ยังยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS โดยการดำเนินการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า BOJ ได้ตัดสินใจถอนนโยบายการซื้อสินทรัพย์และการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะพยุงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด