ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 19-20 มี.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความกังวลว่า เงินเฟ้ออาจจะไม่ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในระยะเวลาอันใกล้ และแสดงความเห็นว่า เฟดอาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
รายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ระบุว่า กรรมการเฟดกล่าวว่า ข้อมูลเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้ทำให้เฟดมีความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และพบว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ระบุถึงความไม่แน่นอนที่ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงอีกนานเท่าใด พร้อมระบุว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากมีภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในฝั่งอุปทานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
กรรมการเฟดบางรายระบุว่า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจจะส่งผลให้ภาวะคอขวดด้านอุปทานทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หรืออาจจะส่งผลให้ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ พร้อมกับกล่าวว่า สถานการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี โดยการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วรวม 5.25%
ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนธ.ค. 2566