นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) โดยกล่าวว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้จะออกมาเช่นใด เฟดจะยังคงมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
"การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินของเรา" นายพาวเวลกล่าว
ส่วนในเรื่องเงินเฟ้อนั้น นายพาวเวลกล่าวว่าแถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดบ่งชี้ว่า กรรมการหลายคนต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่ แต่นับจนถึงขณะนี้เฟดก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
"นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ยังไม่มีข้อมูลที่ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งทำให้เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงจนกว่าสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าการที่เฟดจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่เป้าหมายนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเราพร้อมที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันตราบที่เราเห็นว่าเหมาะสม"
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.
"ผมคิดว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า" นายพาวเวลกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจัยใดจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายพาวเวลกล่าวว่า "ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเห็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า นโยบายการเงินของเราไม่มีความเข้มงวดมากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน แต่เราเชื่อว่าเราจะไม่ได้เห็นหลักฐานดังกล่าว"
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลได้กล่าวถึงเรื่องงบดุลของเฟด โดยย้ำว่า การชะลอการใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) นั้น ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจหรือลดการคุมเข้มทางการเงิน
"ความจริงแล้วการชะลอมาตรการ QT มีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดลงสู่ระดับที่เราต้องการนั้น จะเป็นไปอย่างราบรื่น" นายพาวเวลกล่าว
ส่วนกรณีที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่า สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูงขึ้น (Stagflation) นั้น นายพาวเวลไม่เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว โดยระบุว่า "ผมไม่เข้าใจว่าความคิดนี้มาจากไหน"
"เมื่อพิจารณาจากมาตรวัดเศรษฐกิจแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราอยู่ที่ระดับ 3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% ซึ่งนี่ไม่ได้เรียกว่าภาวะ Stagflation" นายพาวเวลกล่าว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายพาวเวลมีขึ้น หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี
การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%