ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ในวันนี้ โดยระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของ BOJ มีความระมัดระวังที่จะไม่ส่งสัญญาณกับตลาดว่า การที่ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปีเป็นการส่งสัญญาณถึงการเริ่มต้นวงจรการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ขณะเดียวกัน BOJ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินในแนวทางที่เหมาะสม
ในการประชุมเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค.ที่ผ่านมา กรรมการบริหารของ BOJ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่กรรมการบางคนระบุถึงความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และกล่าวถึงความจำเป็นในการตอบสนองสถานการณ์ดังกล่าวอย่างยืดหยุ่นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมวันดังกล่าว คณะกรรมการ BOJ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0 ถึง 0.1% จากระดับ -0.1% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2550
นอกจากนี้ BOJ ประกาศยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ซึ่งถือเป็นการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน และประกาศยุติการซื้อกองทุน ETF และ J-REITS ซึ่งเป็นกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น และจะค่อย ๆ ปรับลดการซื้อตราสารหนี้เอกชน โดยวางแผนว่าจะยุติการซื้อตราสารหนี้เอกชนภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี BOJ จะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร
อย่างไรก็ดี แม้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ แต่ BOJ ส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งรีบในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 2% ซึ่งบ่งชี้ว่า BOJ ยังคงมีจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารรายใหญ่รายอื่น ๆ ของโลก และส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และยูโร