โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จากเดิมที่เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยวางแผนใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งช่วยลดแรงกดดันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กับธปท.
นักกลยุทธ์ของโกลด์แมน แซคส์ ระบุในวันอังคาร (28 พ.ค.) ว่า "เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวเร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้นและจะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตภายในปีนี้" โดยขณะนี้นักกลยุทธ์โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในไตรมาส 2-3 ของปี 2568 จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าธปท.จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 3/2567
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลไทยได้พยายามเพิ่มการใช้จ่ายประจำปี 1.22 แสนล้านบาท (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบการประมาณปัจจุบันที่สิ้นสุดลงในเดือนก.ย. เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยรัฐบาลไทยประมาณการว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 3.7%
เทรดเดอร์ได้ลดการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็ว ๆ นี้ หลังธปท.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพียง 0.12% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเทียบกับในเดือนมี.ค.ที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
หลังจากคงดอกเบี้ยนโยบายในเดือนเม.ย. ธปท.ระบุว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มาตรการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งอ้างอิงถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประเทศไทย คาดการณ์ว่าธปท.จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินในเดือนธ.ค.ปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเริ่มในเดือนมิ.ย.
นอกจากนี้ นักกลยุทธ์โกลด์แมน แซคส์ ยังมีมุมมองเชิงลบต่อทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นจะเพิ่มความต้องการเงินทุน ขณะที่เงินบาทจะยังถูกกดดันต่อไปจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างระหว่างไทยกับสหรัฐ และส่วนต่างการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน