ผลสำรวจชี้ธ.กลางทั่วโลกเมินเงินหยวน เดินหน้าลงทุนในดอลลาร์-ทองคำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2024 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน Official Monetary and Financial Institutions Forum (OMFIF) ระบุว่า มีธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนมากขึ้นที่วางแผนจะเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันก็ลดความสนใจที่จะลงทุนในสกุลเงินหยวนของจีนเนื่องจากให้ผลตอบแทนต่ำและมีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลสำรวจซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ (4 มิ.ย.) ถือเป็นข้อมูลที่ท้าทายกระแสการลดความนิยมการใช้สกุลเงินดอลลาร์ หลังจากหลายประเทศได้ส่งสัญญาณว่ากระจายการลงทุนที่นอกเหนือไปจากสกุลเงินดอลลาร์

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า 18% ของผู้จัดการที่ดูแลทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกระบุว่า พวกเขามีความตั้งใจที่จะเพิ่มการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ในอีก 12-24 เดือนข้างหน้านี้ มากกว่าที่จะลงทุนในสกุลเงินอื่น ๆ พร้อมระบุว่า ดอลลาร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการค้าโลก และคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะยังคงให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดี ผู้จัดการที่ดูแลทุนสำรองของธนาคารกลางเหล่านี้ได้ลดความต้องการในการถือครองสกุลเงินหยวนของจีน โดย 12% ของผู้จัดการที่ดูแลทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกจำนวน 73 แห่งที่ได้รับการสำรวจโดย OMFIF มีแผนที่จะลดการถือครองสกุลเงินหยวนลงในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า

นิคฮิล ซานกานี กรรมการผู้จัดการสถาบันนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของ OMFIF กล่าวว่า "ผู้จัดการที่ดูแลทุนสำรองของธนาคารกลางหลายแห่งได้กล่าวถึงประเด็นความโปร่งใสในตลาดและสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นเหตุผลของการลดการถือครองสกุลเงินหยวน และยังระบุด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.3% เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.5%"

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ธนาคารกลางหลายแห่งวางแผนที่จะเดินหน้าเพื่อเพิ่มการลงทุนในทองคำ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวได้ช่วยหนุนราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า 15% ของธนาคารกลางคาดการณ์ว่าจะเพิ่มการลงทุนในทองคำในปีนี้ ซึ่งหากผลการสำรวจของ OMFIF มีความแม่นยำ ก็หมายความว่าทองคำในระบบทุนสำรองของธนาคารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ