แบงก์ชาติยังคงยืนกรานคัดค้านแผนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชน 50 ล้านคน ซึ่งมีมูลค่ารวม 5 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าควรเน้นช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ มากกว่า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) โดยชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะโตประมาณ 4% หลังจากปีที่แล้วโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 7% ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นอุปสงค์อย่างทั่วถึง
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเสนอว่า โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งตอนนี้ประกาศว่าจะแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 50 ล้านคนนั้น ควรจะจำกัดวงลงเหลือแค่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 15 ล้านคนก็เพียงพอแล้ว
บลูมเบิร์กระบุว่า แม้ความเห็นของนายเศรษฐพุฒิจะสอดคล้องกับมุมมองที่ธปท.เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ แต่การออกมาพูดในจังหวะนี้ยิ่งตอกย้ำความบาดหมางระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมา แผนแจกเงิน 5 แสนล้านบาทนี้เผชิญอุปสรรคมาโดยตลอด โดยฝ่ายบริหารของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับคำถามมากมายถึงเรื่องแหล่งเงินทุน ตลอดจนมีการเลื่อนแจกมาหลายรอบแล้ว
แม้จะเจอเสียงคัดค้านมากมาย แต่นายเศรษฐาก็ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ต่อ โดยชี้ว่านี่คือหนทางที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากช่วงเวลาที่ซบเซามานานหลายปี โดยในวันนี้ (19 มิ.ย.) นายเศรษฐายังแถลงต่อรัฐสภาด้วยว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนี้จะสร้าง "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" และภาษีที่รัฐบาลจะจัดเก็บได้จากโครงการนี้ก็จะถูกนำไปใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
"ถ้าจะทำจริง ๆ ควรทำให้ตรงจุดและจำกัดวงให้แคบลง เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการบริโภคอย่างทั่วถึง" นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอธิบายต่อว่า แม้การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น การจำกัดวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้แจกแค่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดและมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่แล้วนั้น จึงเป็นทางออกที่ "ดีกว่า" ในแง่ของวินัยทางการคลัง
ทั้งนี้ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย แต่กลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสน โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินทุนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตอนแรกรัฐบาลประกาศว่าจะแจกให้คนไทยประมาณ 55 ล้านคน และจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดิน แต่หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีของนายเศรษฐาก็เปลี่ยนใจจะตัดกลุ่มคนรวยออก และจะไปกู้เงินมาแจกแทน
นอกจากนี้ ดิจิทัลวอลเล็ตยังเจอทั้งปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และคำเตือนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกต่างหาก จนสุดท้ายรัฐบาลต้องกลับไปคิดใหม่เรื่องแหล่งเงินทุนกันอีกรอบ แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะหาเงินมาแจกจากไหน แต่นายเศรษฐาก็ยืนยันว่าจะแจกเงินให้ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคาร ธปท.ได้แนะนำรัฐบาลให้มั่นใจว่า การกู้เงิน 1.72 แสนล้านบาทจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้แจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสภาพคล่องของธ.ก.ส.
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติทิ้งท้ายว่า ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตอยู่มาก ดังนั้น การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้และปีหน้าที่ 2.6% และ 3% ตามลำดับนั้น จึงไม่ได้รวมผลกระทบจากโครงการนี้เข้าไปด้วย โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตได้ในระดับศักยภาพที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการแจกเงินก็ตาม ซึ่งบ่งชี้ว่า แนวโน้มนโยบายการเงินจะไม่ได้รับผลกระทบ ต่อให้โครงการแจกเงินจะไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม
อนึ่ง ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากซิตี้กรุ๊ปและโนมูระ โฮลดิ้งส์ มองว่า ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคดีของนายเศรษฐา และนายทักษิณ ชินวัตร ผู้นำโดยพฤตินัยของพรรคเพื่อไทย ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อแผนดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะคดีของนายเศรษฐาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่นั้น หากตัดสินว่ามีความผิดจริงฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ก็จะทำให้นายเศรษฐาต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี