สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (7 ส.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ได้ขอความร่วมมือธนาคารรายใหญ่บางแห่งให้ชะลอการเพิ่มสถานะเทรดที่กดดันค่าเงินรูปี โดยมาตรการนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยพยุงค่าเงินรูปีที่ร่วงแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 3 วันติดต่อกัน
แหล่งข่าวจากนายธนาคารผู้ไม่ประสงค์ออกนาม 4 รายเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จากฝ่ายกำกับดูแลและปฏิบัติการตลาดการเงินของ RBI ได้โทรศัพท์ถึงธนาคารใหญ่ ๆ เมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.) ซึ่งเป็นช่วงที่เงินรูปีมีแนวโน้มอ่อนค่าทะลุ 84 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐในตลาดสปอต
เงินรูปีอินเดียกลายเป็นสกุลเงินเอเชียที่ทำผลงานแย่ที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนยืมเงินหยวนจีนมาซื้อเงินรูปีเพื่อเก็งกำไรระยะยาว แต่ต่อมาเมื่อนักลงทุนแห่เทขายเงินรูปีจำนวนมาก จึงส่งผลให้เงินรูปีอ่อนค่าลง
เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินรูปี RBI ได้เข้าแทรกแซงตลาดทั้งในส่วนของตลาดสปอต ตลาดฟิวเจอร์ และตลาด Non-Deliverable Forward (NDF ? ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มีการส่งมอบเงินเมื่อครบกำหนด)
เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารการเงินของธนาคารต่างชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันอังคาร เจ้าหน้าที่ RBI ได้ร้องขอมาว่า "ให้ถือว่าขนาดของสถานะการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นขีดจำกัดความเสี่ยงสูงสุด" ซึ่งหมายความว่า RBI ไม่ต้องการให้ธนาคารเหล่านี้เพิ่มเงินในสถานะการเทรดค่าเงินรูปี (ไม่ว่า Long หรือ Short) เกินกว่าที่มีอยู่แล้วในขณะนี้
ทั้งนี้ RBI มักใช้วิธีโทรศัพท์แบบไม่เป็นทางการเช่นนี้ เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยควบคุมความผันผวนของค่าเงินที่มากเกินไป ซึ่งโดยปกติแล้ว ธนาคารเหล่านี้ก็มักจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
เมื่อวันอังคาร เงินรูปีอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 83.96 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่มีคำสั่งและการแทรกแซงตลาดโดยตรงจาก RBI ค่าเงินรูปีอาจร่วงลงไปมากกว่านี้
เทรดเดอร์ค่าเงินจากธนาคารแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า RBI น่าจะขายดอลลาร์สหรัฐไปประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ในตลาด NDF ก่อนที่ตลาดสปอตจะเปิดทำการ การแทรกแซงครั้งนี้ช่วยพยุงค่าเงินรูปีไม่ให้อ่อนค่าลงเกินกว่าระดับ 84 รูปีต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสำคัญทางจิตวิทยาของตลาด
ผู้บริหารอาวุโสอีกรายจากธนาคารต่างชาติเปิดเผยว่า RBI ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์อย่าเสนอราคาซื้อคู่สกุลเงิน USD/INR อย่างรุนแรงเพื่อเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการธนาคารยืนยันว่า RBI ไม่ได้ขอให้พวกเขาลดสถานะการเก็งค่าเงินรูปีที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ได้ออกคำสั่งเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสถานะการเทรดในตลาด NDF