นายเจฟฟรีย์ ชมิด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแคนซัสซิตี หนึ่งในคณะกรรมการเฟดสายเหยี่ยว กล่าวเมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดน่าพอใจมาก ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังคลี่คลาย และปูทางสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
"จากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ เราควรระมัดระวังและมองหาสัญญาณที่แย่ที่สุดในข้อมูลเศรษฐกิจ มากกว่าจะมองหาแต่ด้านดี ๆ" นายชมิดกล่าว พร้อมชี้ว่า ราคาสินค้าอาจผันผวนได้ และเฟดจำเป็นต้องใช้ "ระยะเวลาที่นานขึ้น" เพื่อให้แน่ใจในทิศทางของเงินเฟ้อ
"อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ผมจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาตามหน้าที่ของเรา และเมื่อถึงตอนนั้น การปรับเปลี่ยนท่าทีด้านนโยบายก็จะเป็นสิ่งที่เหมาะสม" นายชมิดกล่าวในสุนทรพจน์ที่เตรียมไว้สำหรับการประชุมประจำปีของสมาคมนายธนาคารแคนซัส (Kansas Bankers Association) ที่จัดขึ้นที่เมืองโคโลราโดสปริงส์ รัฐโคโลราโด
นายชมิดระบุว่า ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2.5% ขณะที่เป้าหมายของเฟดอยู่ที่ 2% ซึ่งหมายความว่าเฟด "ใกล้บรรลุเป้าหมายแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงจุดนั้นเสียทีเดียว"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25%-5.50% ซึ่งเป็นระดับที่ใช้มานานกว่าหนึ่งปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เฟดส่งสัญญาณว่าอาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงในเดือนหน้า เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการจ้างงานมีความสมดุลมากขึ้น
ทว่าหลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปได้เพียง 2 วัน ก็มีรายงานตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอออกมา ทำให้ตลาดการเงินเกิดความกังวลว่า เฟดอาจต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดมากขึ้น เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ นายชมิดไม่เห็นด้วยกับมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอย โดยระบุว่า เศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง ความต้องการของผู้บริโภคยังคงสูง และตลาดแรงงานแม้จะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยัง "แข็งแรงดี" เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดอื่น ๆ นอกเหนือจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
นายชมิดกล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ท่าทีด้านนโยบายของเฟดในตอนนี้ "ไม่ได้เข้มงวดมากนัก" และเพื่อให้เงินเฟ้อลดลงไปอีก ตลาดแรงงานจำเป็นต้องชะลอตัวลงมากกว่านี้
"สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากสภาพเศรษฐกิจอ่อนแอลงมากกว่านี้" นายชมิดกล่าว แต่โดยรวมแล้ว นายชมิดส่งสัญญาณว่าเขายังคงอยู่ในโหมดรอดูสถานการณ์ต่อไป
"ทิศทางนโยบายของเฟดจะถูกกำหนดโดยข้อมูลและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ" นายชมิดกล่าว "ด้วยแรงกระแทกมหาศาลที่เศรษฐกิจได้เผชิญในช่วงทศวรรษนี้ ผมจึงไม่อยากคาดเดาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นอย่างไรหรือจะจบลงที่จุดไหน"