ธนาคารกลางออสเตรเลียเผชิญแรงกดดัน ขณะยังคงต้านทานการลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 21, 2024 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) กำลังเผชิญแรงกดดันมหาศาลให้ลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลอัดฉีดเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ดึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดฮวบ แม้เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (21 ส.ค.) ว่า ข้อมูลเดือนก.ค.ที่จะเปิดเผยในสัปดาห์หน้า มีแนวโน้มจะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ลดลงกลับสู่กรอบเป้าหมายของ RBA ที่ 2-3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งอาจจุดกระแสเรียกร้องจากประชาชนและนักการเมืองให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาภาระการผ่อนบ้านในปัจจุบัน

นอกจากนี้ กระแสคาดการณ์ว่าสหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) และแคนาดา จะผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงก่อนการประชุม RBA ครั้งต่อไปในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ยิ่งทำให้ RBA อาจกลายเป็นธนาคารกลางเพียงไม่กี่แห่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เพื่อลดกระแสกดดัน ผู้กำหนดนโยบายของ RBA ได้ออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่า คณะกรรมการไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณชี้นำแบบมีเงื่อนไขเช่นนี้เคยสร้างปัญหาให้กับอดีตผู้ว่าการ RBA อย่างนายฟิลิป โลว์ จนถึงกับต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว โดยในปี 2564 เขาเคยออกมาประกาศว่า อัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะปรับขึ้นจนถึงปี 2567 ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เป็นความจริง

ขณะเดียวกัน นายแกเร็ธ แอร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย (CBA) กล่าวว่า "ยากที่จะนึกถึงช่วงไหนที่ RBA ออกมาพูดถี่ยิบขนาดนี้ในระยะเวลาสั้น ๆ แบบนี้"

"ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นไปตามที่ RBA คาดการณ์ไว้ล่าสุด ดอกเบี้ยนโยบายก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2568" นายแอร์ดกล่าวเสริม

"แต่เรายังเห็นด้วยกับทิศทางของตลาด โดยมองว่ามีโอกาสสูงที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้"

แม้ RBA จะยืนยันว่าจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ย แต่ตลาดกลับมองว่ามีความเป็นไปได้ถึง 42% ที่ RBA จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 4.35% ลง 0.25% ในเดือนก.ย.นี้ และความน่าจะเป็นดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 84% สำหรับการประชุมในเดือนพ.ย. ซึ่งจะมีขึ้นไม่นานหลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อไตรมาส 3

นายแอร์ดจาก CBA คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสที่ 3 หรือที่เรียกว่า "ค่าเฉลี่ยตัดปลาย" (trimmed mean) จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.9% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 4.2% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย

ความท้าทายที่ใหญ่กว่าสำหรับ RBA คือ ดัชนี CPI ทั่วไปมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ RBA ที่ 2-3% แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากมาตรการของรัฐบาลแรงงาน ที่อัดฉีดเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อแจกเงินคืนค่าไฟให้กับทุกครัวเรือน และให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้เช่าบางส่วน

ในการนี้ นายแอนดรูว์ โบอัค นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่ามาตรการนี้จะส่งผลให้ดัชนี CPI ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 0.7% ในเดือนก.ค.เพียงเดือนเดียว และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีลดลง 1% เหลือเพียง 2.7%

ข้อมูลดัชนี CPI เดือนก.ค.จะเปิดเผยในวันที่ 28 ส.ค.นี้ และคาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนในสื่อ โดยอาจมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้กู้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในออสเตรเลียที่สินเชื่อบ้านส่วนใหญ่เป็นแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะขึ้นลงตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยทุกครั้ง

ในส่วนของนางมิเชล บูลล็อก ผู้ว่าการ RBA ได้ชี้แจงว่าประชาชนจะเข้าใจว่าเงินเฟ้อพื้นฐานคือสิ่งสำคัญ และธนาคารกำลังวางนโยบายโดยคำนึงถึง "ผลระยะยาว" เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม การที่ RBA ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 4.25% ตั้งแต่กลางปี 2565 ส่งผลให้ค่าผ่อนบ้านเฉลี่ยต่อเดือนพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อย 1,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย สร้างความเดือดร้อนทางการเงินให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง

ผลสำรวจชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคตกต่ำลงมาก จนถึงระดับที่มักเห็นได้เฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยเท่านั้น

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงความไม่พอใจให้นักการเมืองรับรู้อย่างชัดเจน และเมื่อนางบูลล็อกปรากฏตัวต่อหน้ารัฐสภาเดือนนี้ ก็ถูกซักไซ้ด้วยคำถามเผ็ดร้อนหลายข้อ

ขณะเดียวกัน กระแสโลกก็กำลังสวนทางกับท่าทีลังเลของ RBA ในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยนิวซีแลนด์ประเทศเพื่อนบ้านได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางแคนาดามีแนวโน้มสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ตามด้วยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันถัดมา โดยอัตราดอกเบี้ยของสองธนาคารหลังนี้จะต่ำกว่าของออสเตรเลียด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ