สื่อตีข่าว สายเหยี่ยว-พิราบใน ECB เสียงแตกปมลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 2, 2024 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการประชุมเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ (2 ก.ย.) ว่า ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังมีความเห็นขัดแย้งกันมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งความแตกแยกนี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกหลายเดือนข้างหน้า โดยบางฝ่ายกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่

แหล่งข่าวระบุว่า ECB ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และคาดว่าจะปรับลดลงอีกครั้งในเดือนก.ย.เพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายในอนาคตอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนกำลังเข้าสู่สภาวะเปราะบางมากขึ้น

ประเด็นหลักของการถกเถียงคือ ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างไร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ECB ในขณะที่ ECB พยายามลดเงินเฟ้อให้เหลือ 2% ภายในสิ้นปี 2568

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้การพูดคุยส่วนใหญ่จะเป็นการภายใน แต่จากการสนทนากับแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องโดยตรง ก็เผยให้เห็นถึงมุมมอง 2 ขั้วความคิดชัดเจน

"สายพิราบ" (Dove) หรือกลุ่มหนุนลดดอกเบี้ย ซึ่งยังเป็นเสียงส่วนน้อย แย้งว่าเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาด เสี่ยงถดถอยสูง และบริษัทต่าง ๆ ที่เคยกักตุนแรงงานไว้เริ่มลดตำแหน่งงานว่างลง ทำให้ตลาดแรงงานอ่อนตัวลง

เมื่อการจ้างงานลดลง รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงก็ย่อมลดลงตามไปด้วย กำลังซื้อที่หดตัวจะส่งผลกระทบต่อการบริโภค และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจขาลงในที่สุด

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า "แบบนี้แรงกดดันด้านราคาจะลดลงเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้เยอะ ฉันว่ามีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้า"

กลุ่มนี้มองว่า ECB ดำเนินนโยบายการเงินล่าช้าเกินไป ทั้งการลดดอกเบี้ยและมาตรการพยุงเศรษฐกิจ จึงสนับสนุนให้ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม

อนึ่ง เงินเฟ้อล่าสุดอยู่ที่ 2.2% ในเดือนส.ค. แม้จะลดลง แต่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งช่วงปลายปี และจะกลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วงปลายปี 2568

อย่างไรก็ตาม "สายเหยี่ยว" (Hawk) หรือกลุ่มหนุนคงดอกเบี้ย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายมาตั้งแต่การเร่งขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 กลับมองว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นดีกว่าผลสำรวจที่ดูอ่อนแอ และเศรษฐกิจโดยรวมยังคงแข็งแกร่งอยู่

การบริโภคยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ยูโรโซนเพิ่งผ่านฤดูกาลท่องเที่ยวที่คึกคัก และภาคการก่อสร้างก็เริ่มฟื้นตัว ดังนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมยังถือว่าน่าพอใจ

นอกจากนี้ การเติบโตของค่าจ้างยังคงสูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% รายได้ที่แท้จริงจึงฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะช่วยประคองเศรษฐกิจต่อไปได้

แหล่งข่าวหลายรายระบุว่า แม้ภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนักและอาจฉุดให้เยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ไข นโยบายการเงินจึงมีบทบาทค่อนข้างจำกัด

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลให้กลุ่มนี้หนุนลดดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะทุกไตรมาส จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังกลับสู่ 2%

แหล่งข่าวเผยว่า สายเหยี่ยวมีแนวโน้มที่จะคัดค้านนโยบายผ่อนคลายใด ๆ ที่จะทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2569 เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ECB

อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการ ECB ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มสายเหยี่ยว ย้ำว่า ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อต้องมาก่อนการเติบโต

"นโยบายการเงินควรโฟกัสไปที่การควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายโดยเร็ว" เธอกล่าวในสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์ (30 ส.ค.) "แม้ว่าความเสี่ยงต่อการเติบโตจะเพิ่มขึ้น แต่ซอฟต์แลนดิงก็ยังดูมีโอกาสมากกว่าภาวะถดถอย"

แหล่งข่าวคาดว่า ความเห็นที่แตกต่างกันนี้ไม่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจในเดือนก.ย. เนื่องจากมีความเห็นพ้องกันอย่างกว้างขวางแล้วว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย

แต่อาจส่งผลต่อวิธีการสื่อสารของคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงความคาดหวังสำหรับการประชุมในเดือนต.ค.

ECB คงไม่ละทิ้งแนวทางการตัดสินใจแบบ "ประชุมครั้งต่อครั้ง" ดังนั้น จึงยังไม่มีการยืนยันใด ๆ เกี่ยวกับการประชุมเดือนต.ค. แต่สายพิราบต้องการให้ลาการ์ดเน้นย้ำถึงความเสี่ยงต่อการเติบโตและส่งสัญญาณว่า การลดดอกเบี้ยติดต่อกันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ทว่าสายเหยี่ยวกังวลว่า การส่งสัญญาณเช่นนั้นจะทำให้ตลาดคาดหวังมากเกินไป และเป็นการบีบให้ ECB ต้องลดดอกเบี้ย ขณะนี้นักลงทุนมองเห็นโอกาส 40%-50% ที่ ECB จะลดดอกเบี้ยในเดือนต.ค. และหากลาการ์ดส่งสัญญาณสนับสนุนการลดดอกเบี้ย ก็จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อนี้

แหล่งข่าวรายที่สามกล่าวว่า "ฉันว่าการลดดอกเบี้ยรายไตรมาสกำลังดี ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราเร่งลดดอกเบี้ยเลย"

แม้ว่าผู้ว่าการ ECB จะเห็นพ้องต้องกันในเนื้อหาของแถลงการณ์ แต่ลาการ์ดก็มีอิสระในการเลือกเน้นประเด็นบางอย่างในการสื่อสาร

บรรดานักเศรษฐศาสตร์เองก็มีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ แม้ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจยังห่างไกลจากคำว่าสดใส

เทียร์รี วิซแมน นักกลยุทธ์ของแมควอรี (Macquarie) กล่าวว่า "ถึงแม้สหรัฐฯ จะรอดพ้นจากภาวะถดถอย แต่ยุโรปอาจไม่"

วิซแมนให้เหตุผลว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอจากจีนต่อสินค้ายุโรปทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการขยายตัวของฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย

ขณะเดียวกัน เอบีเอ็น แอมโร (ABN Amro) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะยังคงเติบโตต่อไป แม้จะอยู่ในระดับที่ต่ำ

"เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวแบบอ่อนแรง อัตราการออมที่สูงบ่งชี้ว่าผู้บริโภคไม่ค่อยอยากใช้จ่าย แม้รายได้ที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี" ABN ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ