เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สองรายเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (12 พ.ย.) ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ชะลอการเติบโตของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่เหนือเป้าหมาย 2% แม้ทั้งสองรายจะมองว่าอาจต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่พร้อมระบุว่าจะลดเมื่อใดและมากน้อยเพียงใด
นีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิสได้กล่าวในงานของยาฮูไฟแนนซ์ (Yahoo Finance) ว่า "ผมมองว่านโยบายการเงินของเรายังคงเข้มงวดอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเราควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากน้อยเพียงใด"
ด้านโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ชี้แจงในงานที่เมืองบัลติมอร์ว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจอาจเผชิญสองสถานการณ์คือ หากความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้น เฟดจะต้องเน้นควบคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่หากภาคธุรกิจเริ่มปลดคนงาน ก็จำเป็นต้องหันมาดูแลตลาดแรงงานให้มากขึ้น
"เศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในจุดที่ดี อัตราดอกเบี้ยแม้จะลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ทำให้เฟดพร้อมที่จะปรับนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น" บาร์กินกล่าว
เมื่อถูกถามว่าอะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ แคชคารีชี้แจงว่า ช่วงเวลาจากนี้ถึงวันประชุมนั้นสั้นเกินกว่าที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานได้อย่างชัดเจน
"ผมว่าจะต้องมีเซอร์ไพรส์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น ถึงจะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือทิศทางในระยะยาวว่าเศรษฐกิจจะลงเอยอย่างไร" แคชคารีกล่าว
แคชคารีเชื่อว่า "อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง" (neutral rate) หรือระดับที่ไม่ส่งผลทั้งกระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจนั้น น่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าในอดีต โดยสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่ผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าระดับดอกเบี้ยที่เป็นกลางที่สูงขึ้นอาจเป็นเหตุผลให้ต้องชะลอการลดดอกเบี้ยในอนาคต แต่ทั้งแคชคารีและบาร์กินต่างก็ไม่ได้ออกมาคาดการณ์แต่อย่างใด
"ผมว่าทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้สูงกว่าจุดที่เป็นกลาง แต่เราคงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปีหน้าว่า อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับใด" แคชคารีกล่าว