นักลงทุนพากันเลื่อนคาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้เป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ค. และคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปี 2568 หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 17-18 ธ.ค.2567 เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 28-29 ม.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.,พ.ค.,มิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 154,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 212,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.2%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย.เป็นเพิ่มขึ้น 212,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงาน 33,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.0%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.5%