คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังจากคณะกรรมการ BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในการประชุมวันนี้ (24 ม.ค.) พร้อมกับปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า BOJ มีความเชื่อมั่นว่าค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น จะยังคงทำให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นเคลื่อนไหวที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ อย่างมีเสถียรภาพ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุเอดะได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในหลายประเด็น รวมถึงประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้าง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ
สำหรับประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น อุเอดะกล่าวว่า "บริษัทหลายแห่งระบุว่าพวกเขาจะปรับขึ้นค่าจ้างต่อไป ... ข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง และตลาดการเงินเริ่มมีเสถียรภาพเนื่องจากทิศทางนโยบายของทรัมป์มีความชัดเจนขึ้น ส่วนราคานำเข้านั้น แม้จะขยายตัวช้าลงเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เงินเยนที่อ่อนค่ากำลังผลักดันให้ต้นทุนนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น"
อุเอดะกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า "เรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปรับระดับการสนับสนุนทางการเงินหากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด สำหรับจังหวะและเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เราจะตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้ง โดยการพิจารณาถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และความเสี่ยง"
ผู้ว่าการ BOJ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของปธน.ทรัมป์ว่า "มีความไม่แน่นอนสูงมากเกี่ยวกับขนาดของภาษีศุลกากร และเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้น เราก็จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาในการคาดการณ์และการตัดสินใจด้านนโยบาย"
อุเอดะยังกล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะยังคงดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไปหากจำเป็น โดยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
"นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องจับตาว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเรามีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเหมะสมที่เราจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะเดียวกันเราก็จะติดตามดูผลกระทบดังกล่าวอย่างระมัดระวัง" อุเอดะกล่าว
สำหรับการประชุมในวันนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในระหว่างการเจรจาค่าจ้างประจำปีระหว่างสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหาร หรือชุนโต (Shunto)
นอกจากนี้ คณะกรรมการ BOJ ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด สำหรับช่วงเวลา 3 ปีจนถึงปีงบประมาณ 2569 โดยระบุว่าราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นและเงินเยนที่อ่อนค่าลงได้ส่งผลให้ราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ BOJ คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พื้นฐานจะขยายตัว 2.7% ในปีงบประมาณ 2567, 2.4% ในปีงบประมาณ 2568 และ 2.0% ในปีงบประมาณ 2569 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.5%, 1.9% และ 1.9% ตามลำดับ