ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 28-29 ม.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กรรมการเฟดวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเป็นไปได้ที่มาตรการต่าง ๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษี จะส่งผลกระทบต่อความพยายามของเฟดในการกดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงสู่เป้าหมายที่ 2%
รายงานการประชุมซึ่งเผยแพร่ในวันพุธ (19 ก.พ.) ระบุว่า กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า เฟดจำเป็นต้องเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวลงอีก ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม และแสดงความกังวลว่า ผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีของปธน.ทรัมป์อาจจะไม่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กรรมการเฟดแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากคณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรการภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการปรับลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยกรรมการเฟดระบุว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันทำให้เฟดมีเวลาในการประเมินแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันกรรมการส่วนใหญ่ยังได้ระบุถึงจุดยืนด้านนโยบายการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับคุมเข้ม
ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25-4.50% ตามการคาดการณ์ของตลาด หลังจากที่เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกันรวม 1.00% นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2567 โดยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนก.ย. และได้ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ทั้งในเดือนพ.ย.และธ.ค.
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยในเดือนนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค. โดยดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 3.0% เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3%