อิซาเบล ชนาเบล สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) ว่า พฤติกรรมการบริโภคที่ซบเซาในยูโรโซน ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อาจมีสาเหตุสำคัญมาจาก "การรับรู้ที่คลาดเคลื่อน" ของผู้บริโภค เกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อและรายได้ที่แท้จริง
ในการบรรยาย ณ กรุงลอนดอน ชนาเบลได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าพิจารณาว่า เหตุใดการใช้จ่ายของผู้บริโภคจึงยังคงอ่อนแอ แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงและค่าจ้างเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตามทัน โดยชี้ว่า ครัวเรือนจำนวนมากอาจยังไม่ตระหนักถึงสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นของตนเอง
ชนาเบลอธิบายว่า แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จริงที่ผู้คนสามารถนำไปใช้จ่ายได้ (Real Disposable Income) จะเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายจริงของภาคเอกชน (Real Private Consumption) กลับเติบโตช้ากว่ามาก เหตุผลส่วนหนึ่งมาจาก "การรับรู้ที่คลาดเคลื่อนของครัวเรือนเกี่ยวกับรายได้ที่แท้จริงของตนเอง"
ชนาเบลยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปีที่แล้ว ครัวเรือนกว่าครึ่งในยูโรโซนจะมีรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น แต่ผลสำรวจของ ECB กลับพบว่า มีเพียง 11% เท่านั้นที่รู้สึกว่ารายได้ของตนเองเพิ่มขึ้นจริง
ชนาเบลให้เหตุผลว่า ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความเป็นจริงกับการรับรู้นี้ ทำให้ผลดีจากเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ ECB นั้น ไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากเท่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ ECB ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนกว่าและมีความรู้ทางการเงินน้อยกว่า มีแนวโน้มที่จะมองสถานะทางการเงินของตนเองในแง่ร้ายมากกว่ากลุ่มอื่น