นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน ตุลาคม และธันวาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะประสบภาวะถดถอยจากการดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.
นอกจากนี้ FedWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนมิ.ย., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเดือนก.ค., ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในการประชุมเดือนก.ย. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือนต.ค. และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมเดือนธ.ค.
นายคาร์ล ไวน์เบิร์ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐราว 10% ในไตรมาส 2/2568 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว -3.7% ในไตรมาส 1/2568
นายไวน์เบิร์กคาดการณ์ว่า มาตรการภาษีของปธน.ทรัมป์จะส่งผลให้รายได้ของภาคครัวเรือนและกำไรของภาคธุรกิจหายไปราว 7.41 แสนล้านดอลลาร์ และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก หากรวมถึงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโก
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น โดยราคาของไม้เนื้ออ่อนนำเข้าจะสูงขึ้นถึง 25%
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในการประชุมประจำปีของ Society for Advancing Business Editing and Writing (SABEW) ที่เมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียในวันนี้ เวลา 11.25 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 22.25 น.ตามเวลาไทย
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้