ปธ.เฟดมินนีแอโพลิสเผย ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจปรับขึ้น-ลดดบ. รอดูผลภาษีทรัมป์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 23, 2025 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิสกล่าวเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโดยรวม

แคชแครีกล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดระดับโลกของหอการค้าสหรัฐฯ ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร

แม้แคชแครีจะมองว่า โดยปกติแล้วการขึ้นภาษีศุลกากรเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวรุนแรง แต่สถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดไม่อาจมองข้ามความเสี่ยงนี้ได้

นอกจากนี้ แคชแครียังชี้ว่า ภาษีศุลกากรมีแนวโน้มที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย สถานการณ์เช่นนี้สร้าง "ความตึงเครียด" ให้กับเฟด เพราะเฟดไม่สามารถสู้กับทั้งภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจยากยิ่งขึ้นคือความไม่แน่นอนอย่างสูงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยแคชแครีระบุว่า แม้ปัญหานี้อาจคลี่คลายได้หากการเจรจาการค้าประสบผลสำเร็จ แต่ในระหว่างนี้ ความไม่แน่นอนดังกล่าวได้ส่งผลให้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แคชแครีกล่าวว่า มีระดับความวิตกกังวลที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด

เมื่อถูกถามถึงกรณีที่ทรัมป์กดดันให้เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ลดอัตราดอกเบี้ย แคชแครีตอบโต้ว่า ความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน ถือเป็น "รากฐานสำคัญ" ต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แคชแครีปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า เฟดตัดสินใจโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ แคชแครียังแสดงความกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนทั่วโลกทบทวนการลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งเคยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน

แคชแครีกล่าวว่า หากการลงทุนในสหรัฐฯ ลดลง จะส่งผลให้การขาดดุลการค้าลดลงก็จริง แต่ก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือนสหรัฐฯ สูงขึ้นในระยะยาว สิ่งนี้อาจจำกัดความสามารถในการก่อหนี้ของสหรัฐฯ และบั่นทอนสถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลกได้

แคชแครีกล่าวว่า หากสหรัฐฯ ไม่ใช่เศรษฐกิจที่นักลงทุนทั่วโลกมองว่าเป็นอันดับหนึ่งด้านความสามารถในการแข่งขัน เฟดก็อาจจะมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายมากขึ้น

นอกจากนี้ แคชแครีระบุเสริมว่า เขาหวังว่าอเมริกาจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในเศรษฐกิจโลกไว้ได้ และเงินดอลลาร์ก็จะยังคงสถานะที่โดดเด่นต่อไปเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ