รายงานเบื้องต้นของกระทรวงระบุว่า ดุลการค้าสินค้าของญี่ปุ่นขาดดุล 9.433 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลมากที่สุดสำหรับเดือนก.ค. นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อปี 2528
ยอดนำเข้าขยายตัว 21.0% สู่ระดับ 6.6505 ล้านล้านเยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน รวมถึงการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบดบังยอดส่งออกที่ขยายตัวขึ้น 11.5% แตะ 5.7073 ล้านล้านเยน
โดยปกติแล้ว เงินเยนที่อ่อนค่าจะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกญี่ปุ่น และช่วยหนุนให้รายได้สกุลเงินเยนในต่างประเทศมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเงินเยนที่อ่อนค่าก็ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับเกินดุลเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการลงทุนโดยตรงที่ขยายตัวขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยยอดขาดดุลการค้าได้
บัญชีรายได้ ซึ่งสะท้อนรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่น เกินดุลที่ 1.7938 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 24.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2528 สำนักข่าวเกียวโดรายงาน