เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวได้เป็นไตรมาสที่สามนับตั้งแต่ที่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน 18 เดือน เพราะได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวของประเทศสมาชิก นำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งข้อมูลล่าสุดนี้ช่วยคลายแรงกดดันสำหรับธนาคารกลางยุโรปในการดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและกระตุ้นการขยายตัว
ทั้งนี้ ตัวเลขจีดีพียูโรโซนประกอบด้วยจีดีพีจากประเทศสมาชิกอียู 17 ประเทศ โดยลัตเวียเริ่มเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 18 ของยูโรโซนในเดือนม.ค.นี้
ขณะที่เศรษฐกิจของทั้งอียู ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 28 ประเทศ ขยายตัว 0.4% ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.
สำหรับตลอดทั้งปี 2556 จีดีพีหดตัว 0.4% ในยูโรโซน แต่ขยายตัว 0.1% ในอียูโดยรวม
ก่อนที่ยูโรสแตทจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว สำนักงานสถิติของหลายประเทศสมาชิกต่างพากันรายงานตัวเลขจีดีพีของตนเอง ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี
สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัว 0.3% ในไตรมาสุดท้ายของปี 2556 จากไตรมาสสามที่ไม่ขยายตัว
Insee ได้ปรับทบทวนตัวเลขจีดีพีของฝรั่งเศสในไตรมาสสามเป็น 0% จากที่หดตัว 0.1% ในประมาณการเบื้องต้น ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2556 เศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัว 0.3%
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเยอรมนีก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. โดยสำนักงานสถิติของเยอรมนี (Destatis) เผยว่าจีดีพีของประเทศขยายตัว 0.4% จากช่วงสามเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.3%
Destatis ระบุว่าตัวเลขจีดีพีได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการลงทุน แต่อุปสงค์ในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง
สำหรับตลอดทั้งปี 2556 เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัว 1.3%
ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (Istat) รายงานว่า จีดีพีไตรมาสสี่ขยายตัว 0.1% จาก 0% ในไตรมาสสาม ซึ่งเป็นการกลับสู่การขยายตัวได้เป็นครั้งแรก หลังจากอิตาลีประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยมานานสองปี
อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งปี 2556 เศรษฐกิจอิตาลียังคงหดตัวในอัตรา 1.9%