การร่วงลงของอัตราเงินเฟ้อสู่แดนลบดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในการประชุมนโยบายในวันที่ 10 มี.ค.
การปรับตัวลงของอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน ซึ่งร่วงลง 8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ เมื่อเทียบกับที่ปรับตัวลง 5.4% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ECB จะทำการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 10 มี.ค.เพื่อกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนไปสู่เป้าหมายของ ECB ที่ใกล้ระดับ 2%
รายงานการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ประจำวันที่ 21 ม.ค. บ่งชี้ว่า กรรมการ ECB มีความกังวลต่อภาวะผันผวนของตลาดการเงิน และแนวโน้มที่ซบเซาของเศรษฐกิจจีน และตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ กรรมการ ECB ยังได้หารือกันว่าภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำในปัจจุบันจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อค่าแรงและราคาหรือไม่ ขณะที่ ECB ตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำกว่า 2% เล็กน้อย
ความกังวลดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่า ECB อาจทำการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มี.ค. โดย ECB อาจทำการเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งขณะนี้มีวงเงินอยู่ที่ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน
นอกจากนี้ ECB อาจทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝากไว้ที่ ECB จากขณะนี้ที่ระดับ -0.3% โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าฝากแก่ ECB หากมีการนำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ ECB โดยมาตรการของ ECB มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะนำมาพักไว้ที่ ECB และต้องการลดการออมของประชาชน เพื่อให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด