สำนักงานสถิติแห่งชาติของบราซิลเปิดเผยว่า เศรษฐกิจหดตัวลง 3.8% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และนับเป็นการหดตัวเป็นไตรมาสที่ 9 ติดต่อกัน
ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของบราซิลดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการปลดนางดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลในวันนี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านโจมตีนางดุสเซฟฟ์ว่ามีการจัดการงบประมาณอย่างผิดพลาด และเมินเฉยต่อความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ วุฒิสภาบราซิลมีมติถอดถอนนางรุสเซฟฟ์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียง 61 ต่อ 20 เสียง ส่งผลให้นายมิเชล เทเมอร์ อดีตรองประธานาธิบดีในรัฐบาลของนางรุสเซฟฟ์ และเป็นรักษาการประธานาธิบดีในขณะนี้ จะเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีบราซิลคนต่อไป
นายเทเมอร์ให้สัญญาว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจของบราซิล และจะใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุล
นางรุสเซฟฟ์ ถูกกล่าวหาว่าทำการปิดบังการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก โดยทำการตกแต่งบัญชีรายจ่ายของรัฐบาล ในช่วงที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2014
ทางด้านนางรุสเซฟฟ์ อดีตประธานาธิบดีบราซิล และเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ ทวีตข้อความโจมตีวุฒิสภาที่ได้ถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกว่า 54 ล้านคน
"วันนี้เป็นวันซึ่งเสียงของคนเพียง 61 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหา และทำการทุจริต ได้โยนคะแนนเสียงของชาวบราซิลกว่า 54 ล้านเสียงลงในถังขยะ" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ทั้งนี้ นางรุสเซฟฟ์ชนะการเลือกตั้งในปี 2014 ด้วยคะแนนเสียงมากกว่า 54 ล้านเสียง
ชาวบราซิลต่างพากันเฉลิมฉลองการพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีของนางรุสเซฟฟ์ในวันนี้ หลังจากที่ถูกวุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงอย่างมาก นับตั้งแต่ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2014
ผู้ขับขี่รถยนต์ในกรุงริโอ เดอ จาเนโร ต่างกดแตรตามท้องถนนเพื่อแสดงความยินดี ขณะที่ประชาชนในเมืองเซา เปาโล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของบราซิล ได้ทำการจุดพลุเฉลิมฉลอง หลังทราบผลการลงคะแนนของวุฒิสภา