กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวานนี้ โดยได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ระดับ 3.1% ในปีนี้ ขณะที่ระบุว่าเศรษฐกิจถูกกดดันจากการลงประชามติของอังกฤษที่แยกตัวจากสหภาพยุโรป และการขยายตัวที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
IMF ยังได้คงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่ระดับ 3.4% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น รัสเซีย และบราซิล
อย่างไรก็ดี IMF ปรับลดอัตราการขยายตัวของสหรัฐลง 0.6% สู่ระดับ 1.6% ในปีนี้ และลดลง 0.3% สู่ระดับ 2.2% ในปีหน้า หลังจากที่มีการขยายตัว 2.6% ในปีที่แล้ว โดยถูกกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, การใช้จ่ายด้านทุนที่อ่อนแอ, ภาวะผันผวนในตลาดการเงินในช่วงต้นปี และความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐควรดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขึ้นอยู่กับการมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าราคาและค่าแรงมีการปรับตัวที่แข็งแกร่ง
IMF คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีนในปีนี้ที่ระดับ 6.6% และปีหน้าที่ระดับ 6.2% ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ และปีหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นทางด้านการคลัง รวมทั้งจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะมีการขยายตัว 0.5% ในปีนี้ และ 0.6% ในปีหน้า โดยมีการปรับเพิ่มขึ้น 0.2% และ 0.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า อินเดียจะมีการขยายตัว 7.6% ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยมีการปรับเพิ่มขึ้น 0.2% จากคาดการณ์ในเดือนก.ค. ขณะที่ IMF ระบุว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีการขยายตัวสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่า 5 ชาติในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะมีการขยายตัว 4.8% ในปีนี้ และ 5.1% ในปีหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ในเดือนก.ค.