ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม ดัชนี PPI เดือนเม.ย.ชะลอตัวลงจากเดือนมี.ค.ที่มีการขยายตัว 2.1% เนื่องจากราคาสินค้าเวชภัณฑ์ปรับตัวลดลง
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนดัชนี PPI ให้ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 แต่ดัชนี PPI เดือนเม.ย.ชะลอตัวลงจากระดับของเดือนมี.ค. ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายของ BOJ ที่ต้องการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นเงินเฟ้อ
รายงานระบุว่า สินค้าเคมีภัณฑ์ รวมถึง เวชภัณฑ์ยา ปรับตัวขึ้น 1% ในเดือนเม.ย. แต่ถือว่าน้อยกว่าราคาในเดือนมี.ค.ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.5% ส่วนราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากถ่านหินพุ่งขึ้นถึง 11% สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของตลาดที่มีต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงขึ้น จากปฎิบัติการโจมตีทางอากาศนำโดยสหรัฐถล่มซีเรีย ขณะที่ราคาเหล็กเพิ่มขึ้น 4.3% จากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง เนื่องจากการก่อสร้างขยายตัวก่อนหน้าการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2563 ส่วนราคาอลูมิเนียมและทองแดงเพิ่มขึ้น 7.5%
สำหรับราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.2% และราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 5% เมื่อพิจารณาในรูปสกุลเงินเยน
ทั้งนี้ BOJ พยายามบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% แต่มาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบเชิงรุกในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดซึ่งมีความผันผวนนั้น ขยับขึ้นเพียง 0.9% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี