รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 หดตัวลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบกว่า 4 ปี เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายด้านการลงทุน
ตัวเลขจีดีพีดังกล่าวถูกปรับทบทวนลงจากรายงานเบื้องต้นที่ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 1.2% ในไตรมาส 3 และยังเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่หดตัว 7.3% ในไตรมาส 2 ของปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการบริโภค ขณะเดียวกัน ตัวเลขจีดีพีที่มีการปรับทบทวน ยังหดตัวลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนในผลสำรวจของเกียวโด นิวส์ โพลล์ คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 2.1%
หากเทียบเป็นรายไตรมาส จีดีพีไตรมาส 3 หดตัว 0.6% ซึ่งลดลงจากรายงานเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 0.3%
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึง ไต้ฝุ่นเชบี ที่พัดถล่มทางตะวันตกของญี่ปุ่น จนส่งผลให้ต้องมีการปิดให้บริการสนามบินหลักของโอซาก้าชั่วคราว และแผ่นดินไหวรุนแรง 6.7 แมกนิจูด ที่เขย่าเกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของประเทศในเดือนก.ย. ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เช่น ผู้ค้าปลีก และบริษัทเทคโนโลยี
รายจ่ายด้านการลงทุนร่วงลง 2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับทบทวนลงอย่างมากจากที่ลดลงเพียง 0.2% ในรายงานเบื้องต้น
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเช่นกัน ถูกปรับทบทวนเป็นลดลง 0.2% จากเดิมลดลง 0.1% ส่วนการลงทุนภาคสาธารณะลดลง 2.0% จากเดิมลดลง 1.9%
ขณะที่การส่งออกลดลง 1.8% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเบื้องต้น