ดอลลาร์ยังคงปรับตัวแคบในวันนี้ แม้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่พุ่งขึ้นเกินคาดของสหรัฐ
ณ เวลา 20.38 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.03% สู่ระดับ 111.68 เยน และปรับตัวขึ้นเพียง 0.01% สู่ระดับ 1.1221 เทียบยูโร ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.05% สู่ระดับ 97.36
นักวิเคราะห์ระบุว่า สาเหตุที่ดอลลาร์ไม่ได้พุ่งขึ้น ขานรับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งของสหรัฐ เนื่องจากตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานได้ชะลอตัวในเดือนมี.ค. ขณะที่ตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ส่งผลให้รายงานการจ้างงานในเดือนนี้ยังคงสนับสนุนการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 196,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าระดับ 20,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 ก่อนที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 33,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.8% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4 เซนต์ หรือ 0.1% หลังจากพุ่งขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.4% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ลดลงสู่ระดับ 63.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 63.2% ในเดือนก.พ.
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 312,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 33,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 20,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนมี.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 182,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 14,000 ตำแหน่ง