อัตราเงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคในเดือนส.ค.ของเกาหลีใต้ยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาอาหารสดที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากผลกระทบของคลื่นความร้อน รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน, ค่าเช่าบ้าน และบริการอื่นๆ ที่ต่างปรับตัวขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค. และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 2.3%
เมื่อพิจารณาแยกประเภทจะพบว่า ราคาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่พุ่งขึ้นส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น โดยค่าเช่าบ้านและค่าอาหาร รวมถึงบริการอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นก็เป็นปัจจัยที่หนุนเงินเฟ้อเช่นกัน
ราคาสินค้าเกษตร, ปศุสัตว์และประมง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมพุ่งขึ้น 7.8% และ 21.6% ตามลำดับ ขณะที่ค่าเช่าบ้านและค่าอาหารเพิ่มขึ้น 1.6% และ 2.8% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายปี โดยนับเป็นการปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561 และเพิ่มจากที่ปรับตัวขึ้น 1.2% ในเดือนก.ค.
ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยออกมาเพียง 1 สัปดาห์หลังจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
BOK ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2564 จากเดิมที่ 1.8% สู่ระดับ 2.1% และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5% ตลอดปี 2565