สถาบันเวสต์แพค-เมลเบิร์นเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียปรับตัวลงในเดือนก.พ. เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่เริ่มปรับตัวขึ้นในปีนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อครัวเรือนที่มีภาระหนี้สินมากและต้องรับภาระราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง 1.3% ในเดือนก.พ. สู่ระดับ 100.8 ขณะที่ผลสำรวจบ่งชี้ว่า สัดส่วนผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจำนองจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66% ในเดือนก.พ. จาก 55% ในเดือนม.ค.
นายบิล อีแวนส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวสต์แพคกล่าวว่า "มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ฝั่งผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างแน่นอน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคครั้งนี้สะท้อนมุมมองด้านลบชัดเจนมากที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2554 แม้ว่าในตอนนั้น ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ๆ ก็ตาม"
อย่างไรก็ดี ข้อมูลในผลสำรวจบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ แต่มีมุมมองด้านลบในเรื่องการเงินส่วนบุคคล
ดัชนีย่อยด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น 2.4% ส่วนดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 1.5% โดยถูกกดดันจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านการเงินของภาคครัวเรือนซึ่งดิ่งลง 9.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนดัชนีแนวโน้มด้านการเงินในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้น ลดลง 1.5%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า RBA จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเร็วสุดในเดือนมิ.ย.