กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนเม.ย.ของเกาหลีใต้ขยายตัวน้อยที่สุดในรอบ 14 เดือนหลังการส่งออกไปจีนหดตัว นอกจากนี้ ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นเพิ่มแรงกดดันต่อการนำเข้า ส่งผลให้การขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น
รายงานระบุว่า ยอดส่งออกเดือนเม.ย.ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 12.6% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 5.769 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยายตัวน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564 ต่ำกว่าคาดการณ์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ที่ 14.5% และต่ำกว่าเดือนมี.ค.ที่ขยายตัว 18.2%
ยอดส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ลดลง 3.4% โดยได้รับผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) และการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ยอดส่งออกไปสหรัฐพุ่งขึ้น 26.4% และยอดส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 7.4%
เมื่อแยกตามประเภทสินค้าจะเห็นว่า ยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น 15.8% และยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนเม.ย. ส่วนยอดส่งออกน้ำมันพุ่งขึ้น 68.8% และผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 21.1%
ส่วนยอดนำเข้าของเกาหลีใต้ในเดือนเม.ย.ขยายตัว 18.6% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 6.035 หมื่นล้านดอลลาร์ นำโดยยอดนำเข้าน้ำมันดิบ ก๊าซ และถ่านหิน มูลค่ารวม 1.481 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดขาดดุลการค้า 2.66 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 115 ล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งออกที่ชะลอตัวลงมีขึ้นขณะที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่ร้อนแรง ขณะที่ในเดือนเม.ย. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2562 พร้อมแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจปี 2565 อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในเดือนก.พ.ของธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่ 3%