เงินเฟ้อยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือนพ.ค. ซึ่งส่งผลกระทบต่อมุมมองของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเพียงพอที่จะยับยั้งการขยายตัวของเงินเฟ้อที่ระดับสูง
เงินเฟ้อของยูโรโซนซึ่งประกอบด้วย 19 ประเทศ เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.1% ในเดือนพ.ค.จาก 7.4% ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 7.7% เนื่องจากราคาสินค้ายังคงขยายตัวในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงราคาพลังงานอีกต่อไป
ราคาสินค้าพุ่งขึ้นอย่างมากทั่วยุโรปในปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นสู่ 4.4% เมื่อเทียบรายปีในเดือนพ.ค. จาก 3.9% ในเดือนเม.ย.
นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB และนายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ECB อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.25% จากระดับ -0.5% ในเดือนก.ค.และก.ย.ปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายและนักเศรษฐศาสตร์บางรายไม่แน่ใจว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เงินเฟ้อยังไม่แสดงสัญญาณการชะลอตัวลง
ทั้งนี้ ECB จะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย. และจะส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วย