สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 24 ปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ของเกาหลีใต้ขยายตัวรวดเร็วกว่าในเดือนพ.ค.ที่ปรับตัวขึ้น 5.4% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.9%
นอกจากนี้ ยังนับเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันที่ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ 2%
สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า หากดัชนี CPI ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นเช่นนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าดัชนี CPI ตลอดปี 2565 จะพุ่งขึ้นเหนือตัวเลขคาดการณ์ของกระทรวงการคลังที่ระดับ 5.7%
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีใต้ยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยสองเดือนติดต่อกันเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 15 ปี เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลเกาหลีใต้มีความพยายามอย่างมากที่จะควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อเป็นลำดับต้น ๆ แม้มีความกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สำหรับการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางเกาหลีใต้จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งนี้ หลังจากดัชนี CPI เดือนมิ.ย.พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 24 ปี