เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% หรืออาจแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 8.6% ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.8%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่พุ่งขึ้น 6.0% แต่ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8%
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่รัฐฟลอริดา หลังมีการเปิดเผยดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ในวันพุธ (13 ก.ค.) โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด จะทำให้เฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 1% หรือไม่ ซึ่งนายบูลลาร์ดตอบว่า "ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น"
ขณะที่นางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กในวันพุธเช่นกัน โดยแม้ว่าเธอปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นในการประชุมเดือนนี้ แต่ก็กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยในขณะนี้ เธอมองว่าไม่มีเหตุผลใดที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าระดับ 0.75% ที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วในการประชุมเดือนมิ.ย.
ทางด้านนางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า "มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ก่อนหน้านี้ดิฉันคาดว่า ดัชนี CPI จะออกมาค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่คิดว่าจะสูงมากถึงขนาดนี้ นี่เป็นข่าวร้ายมาก"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
ขณะที่ทีมนักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระ ซิเคียวริตีส์ อินเตอร์เนชันแนลก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้เช่นกัน