ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดซึ่งมีความผันผวน พุ่งขึ้น 2.2% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มผลกระทบต่อภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น
ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เมื่อเทียบเป็นรายปี และตอกย้ำถึงความอ่อนไหวของญี่ปุ่นต่อราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้น โดยสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลงมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น
ราคาน้ำมันก๊าดพุ่งขึ้น 23.4% จากปีก่อนหน้า ส่วนราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 12.2% โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานทั้งสองนั้นชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค. ส่วนราคาก๊าซในเมืองพุ่งขึ้น 21.9%
ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหาร ขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวหลังจากการประชุมนโยบายเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) ว่า การเพิ่มขึ้นของค่าแรงไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19