อัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียทะยานสู่ระดับสูงสุดในรอบ 21 ปีในไตรมาส 2/2565 และมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากต้นทุนอาหารและพลังงานทะยานสูงขึ้น และทำให้มีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าสองเท่าตัวจึงจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ (27 ก.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้น 1.8% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 1.9% เพียงเล็กน้อย ส่วนดัชนี CPI รายปีปรับตัวขึ้นแตะ 6.1% จากระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544 และสูงกว่าการขยายตัวของค่าจ้างกว่าสองเท่า
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด ปรับตัวขึ้น 1.5% ในไตรมาส 2 ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่อปีพุ่งแตะระดับ4.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการเริ่มต้นจัดเก็บข้อมูลในปี 2546