กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด พุ่งขึ้น 2.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปีครึ่ง หลังจากราคาพลังงานและวัสดุพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันยาวนานถึง 11 เดือน และทำสถิติสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ 2% เป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ติดต่อกันถึง 4 เดือน แต่คณะกรรมการ BOJ ยังคงยืนยันที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ต่อไป
ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ในการประชุมวันดังกล่าว คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2565 โดยระบุว่า ดัชนี CPI พื้นฐานจะขยายตัว 2.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.9%