สถาบันเวสแพค-เมลเบิร์น อินสทิทิวต์เปิดเผยในวันนี้ (8 พ.ย.) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียในเดือนพ.ย.ร่วงลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าตัวเลขการใช้จ่ายจริงจะยังคงไม่สอดคล้องกับความเชื่อมั่นดังกล่าวก็ตาม
รายงานระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงลง 6.9% ในเดือนพ.ย.จากเดือนต.ค. และทรุดลงเกือบ 26% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะระดับ 78.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด โดยดัชนีที่ต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่าจำนวนผู้บริโภคที่มีมุมมองในด้านลบต่อเศรษฐกิจนั้น มีมากกว่าจำนวนผู้บริโภคที่มีมุมมองเป็นบวก
นายบิล อีแวนส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวสต์แพคระบุว่า "ก่อนหน้านี้ เราต้องย้อนกลับไปยังช่วงที่เกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เพื่อจะพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคร่วงลง" พร้อมกล่าวเสริมว่า "อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อความเชื่อมั่น"
ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจรายสัปดาห์โดยธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป (ANZ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง 1.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว และการคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแตะระดับ 6.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มรายงานในปี 2553
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 2.75% นับตั้งแต่เดือนพ.ค.