ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินโดนีเซียในปี 2566 อาจชะลอตัวลงแตะที่ 4.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากผลกระทบของการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.5% - 5.3% ทั้งนี้ นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการ BI จะใช้ตัวเลขคาดการณ์ GDP เป็นส่วนหนึ่งของการหารือกับรัฐสภาเกี่ยวกับงบประมาณปี 2566
นายวาร์จิโยระบุว่า การคาดการณ์ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจนั้นยากที่จะคาดเดา เนื่องจากความผันผวนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก พร้อมเสริมว่า ตัวเลขที่แน่นอนยังคงต้องการการหารือเพิ่มเติมกับสมาชิกสภานิติบัญญัติ
นอกจากนี้ นายวาร์จิโยยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงสิ้นปี 2565 ไว้ที่ 6.11% และในช่วงสิ้นปี 2566 ไว้ที่ 3.61% ในการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งการนำเสนอตัวเลขคาดการณ์ของเขาแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 เป็นไปตามคาดการณ์ของ BI ณ วันที่ 3 พ.ย.
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา BI ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เพื่อควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และพยุงค่าเงินรูเปียห์
ทั้งนี้ BI มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วันในอัตรา 0.50% สู่ระดับ 5.25% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ นอกจากนี้ BI ยังได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเภทอื่น ๆ ในอัตราเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ BI ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมดแล้ว 1.75% นับตั้งแต่เดือนส.ค. ซึ่งเท่ากับวัฏจักรคุมเข้มทางการเงินครั้งก่อนในปี 2561