ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวเปิดช่องให้จีนดำเนินมาตรการกระตุ้นศก.ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 9, 2022 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงานปรับตัวลดลงอีกครั้งในเดือนพ.ย. ในขณะที่เงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัวลง เนื่องจากการหยุดชะงักจากโควิด-19 ฉุดอุปสงค์ให้ลดลง ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถผ่อนคลายนโยบายคุมเข้มการเงินลงได้บางส่วน ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังพยายามฟื้นตัว

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอลงจากเดือนต.ค.ที่มีการขยายตัว 2.1% และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลง 1.3% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ลดลง 1.3% ในเดือนต.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนี PPI เดือนพ.ย.ของจีนปรับตัวลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.5%

นายจาง จือเว่ย ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเซท แมนเนจเม้นท์กล่าวว่า "ข้อมูลบ่งชี้ว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผมคาดหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยผลักดันตลาดและเสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้มากกว่านี้ ยิ่งเปิดประเทศอีกครั้งได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งบ่งบอกถึงความรู้สึกเร่งด่วนที่รัฐบาลมีมากเท่านั้น"

ทั้งนี้ ตัวเลขที่ชะลอตัวลงทำให้ PBOC สามารถผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางการเงินได้ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางที่สำคัญอื่น ๆ คาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงต้นปีหน้า

ผลสำรวจล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่า PBOC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2566 ไปพร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ในเดือนมี.ค. รวมถึงอาจมีการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ