สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) รายงานในวันนี้ (31 ม.ค.) ว่า ยอดค้าปลีกของออสเตรเลียร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนธ.ค. เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงได้ฉุดรั้งการใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะลดความจำเป็นในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
ABS ระบุว่า ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ร่วงลง 3.9% จากเดือนพ.ย. หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 11 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกที่ลดลงดังกล่าวยังเป็นการร่วงลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ออสเตรเลียดำเนินมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 และลดลงอย่างมากจากการคาดการณ์เฉลี่ยที่คาดว่าจะลดลง 0.3%
นายเบน ดอร์เบอร์ หัวหน้าฝ่ายสถิติการค้าปลีกของ ABS กล่าวว่า "ยอดค้าปลีกที่ลดลงอย่างมากในเดือนธ.ค.บ่งชี้ว่า การใช้จ่ายด้านการค้าปลีกกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น"
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเภทพบว่า ยอดค้าปลีกมีการปรับตัวลดลงมากที่สุดในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกของใช้ในครัวเรือน และร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่น โดยยอดขายในห้างสรรพสินค้าลดลง 14.3% ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ เหล่านักวิเคราะห์จากธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป (ANZ) คาดว่า การขยายตัวของการบริโภคจะชะลอตัวจนถึงปี 2566 อันเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าจ้างที่แท้จริงที่ลดลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก