เอสแอนด์พี โกลบอลรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเกาหลีใต้ประจำเดือนเม.ย. อยู่ที่ 48.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 47.6 ของเดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 47.5
อย่างไรก็ดี ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของเกาหลีใต้กำลังหดตัว และขณะนี้ก็หดตัวเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ถือเป็นสถิติภาวะตกต่ำยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2560 และตอกย้ำว่าดีมานด์ในตลาดโลกที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ผลผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 แต่หดตัวไม่มากเท่าเดือนมี.ค. ด้านคำสั่งซื้อใหม่ก็ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แต่ลดลงไม่มากเท่าเดือนมี.ค.
ผลสำรวจระบุว่า คำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แต่ลดลงไม่มากเท่าเดือนมี.ค. โดยเกิดจากอุปสงค์ที่ซบเซาในตลาดสำคัญ ๆ เช่น จีน, ญี่ปุ่น และยุโรป
ในด้านบวก อัตราเงินเฟ้อของราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 โดยบริษัทต่าง ๆ รายงานว่า ราคาวัตถุดิบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ลดลง แม้ว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงก็ตาม
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของราคาผลผลิตก็ชะลอตัวลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 31 เดือน โดยมีสาเหตุหลักคือบริษัทต่าง ๆ ลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นอุปสงค์
ระยะเวลาในการส่งมอบของซัพพลายเออร์ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2562 โดยบริษัทต่าง ๆ มองว่าเป็นเพราะมีการจัดหาวัตถุดิบที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับผลผลิตในอนาคตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบันจะกินเวลานาน และไม่รู้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อใด