ธนาคารโลกระบุว่า รัฐบาลไทยต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้จ่ายภาคสาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลพวงของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารโลกระบุในรายงานการประเมินรายได้สาธารณะและการใช้จ่ายของไทยในวันนี้ (29 พ.ค.) ว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านบำนาญ การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ แต่ต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและต้องทำให้หนี้สาธารณะอยู่ภายใต้การควบคุมต่อไป
"ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่มีความเสมอภาคและยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาคสาธารณะ การเพิ่มรายได้ และการใช้นโยบายเพื่อส่งเสริมกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุดและรับมือกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ" นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว
ธนาคารโลกแนะนำให้รัฐบาลไทยปฏิรูปอัตราภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการยกเลิกการให้สิทธิ์ยกเว้นภาษี การขยายฐานภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและการปรับปรุงประสิทธิภาพเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงและการหักลดหย่อน รวมถึงการขยายการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์
"หากรัฐบาลดำเนินการปฏิรูปอัตราภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดช่วงทศวรรษที่เหลือนี้ ก็จะช่วยส่งเสริมความเสมอภาค ขณะเดียวกันก็มีงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยการปฏิรูปด้านการช่วยเหลือสังคมจะชดเชยผลกระทบด้านลบจากภาวะยากจน ขณะที่ยังสามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มรายได้สุทธิอีกด้วย" ธนาคารโลกกล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารโลกระบุว่า แม้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมาต่อสู้กับโรคโควิด-19 แต่ความเสี่ยงทางการคลังโดยรวมยังถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้ พร้อมกล่าวเสริมว่า ในระยะใกล้ รัฐบาลจะสามารถหาเงินมาใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะและภาคส่วนสำคัญอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ด้วยการโยกเงินมาจากภาคส่วนอื่น