นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy) เนื่องจาก BOJ มีแนวโน้มที่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ของ BOJ อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี นายกูรินชาส์กล่าวว่า BOJ ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงเหนือระดับคาดการณ์ และควรเตรียมความพร้อมที่จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินหากอัตราเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมายของ BOJ เป็นเวลานานเกินไป
"นี่เป็นเวลาที่ดี ที่ BOJ จะทำให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (underlying inflation) ของญี่ปุ่นอยู่ที่เหนือระดับ 2% และค่าจ้างเริ่มปรับตัวขึ้น แต่การดำเนินการกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลา และมันจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่หวนกลับไปเผชิญกับภาวะเงินฝืดอีก" นายกูรินชาส์กล่าว
แม้ว่านายกูรินชาส์แสดงความเห็นว่า BOJ ควรเดินหน้าตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป แต่ก็แนะนำว่า BOJ ควรศึกษาบทเรียนจากการที่ธนาคารของประเทศอื่น ๆ เช่นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในขณะนี้
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.4% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ BOJ กำหนดไว้ และส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน