สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานในวันนี้ (5 มิ.ย.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.00% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 4.33% ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 4.22%
ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาอยู่ในช่วงอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 2%-4% ของธนาคารกลางอินโดนีเซียสำหรับปี 2566
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี CPI เดือนพ.ค.ของอินโดนีเซียแตะระดับ 0.09% ลดลงจากระดับ 0.33% ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.30%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนพ.ค. ซึ่งไม่รวมราคาสินค้าที่ควบคุมโดยรัฐบาลและราคาอาหารที่ผันผวน ลดลงสู่ระดับ 2.66% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของโพลสำรวจที่ระดับ 2.80% และต่ำกว่าระดับ 2.83% ในเดือนเม.ย.
ในการประชุมเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานไว้ โดยไม่เปลี่ยนแปลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาอยู่ในเป้าหมายที่ 2-4% ภายในเดือนก.ย.
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย "เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก" อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ วาร์ดานา นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารดานามอน (Bank Danamon) คาดว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมตลอดทั้งปี เนื่องจากความเสี่ยงด้านลบจากราคาอาหารโลกที่ลดลงได้หักล้างกันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับลดกำลังการผลิตโดยกลุ่มโอเปกพลัส
ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าให้อยู่ระหว่าง 1.5%-3.5%