องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยในวันนี้ (7 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะปรับตัวขึ้นในระดับปานกลางเท่านั้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเต็มรูป ซึ่งบั่นทอนแรงกระตุ้นจากเงินเฟ้อที่ลดลง
OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตขึ้น 2.7% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ในเดือนมี.ค.ว่าจะเติบโต 2.6%
OECD ระบุว่า แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน แต่ก็ยังคงเป็นระดับการเติบโตประจำปีที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อปี 2551-2552 โดยไม่นับรวมปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในปีหน้าสู่การขยายตัว 2.9% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนมี.ค. เนื่องจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางรายใหญ่ต่าง ๆ ในปีที่แล้วนั้นฉุดรั้งการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เช่นตลาดที่อยู่อาศัย
OECD คาดว่า เงินเฟ้อของกลุ่ม G20 จะปรับตัวลดลงจากระดับ 7.8% เมื่อปีที่แล้วสู่ระดับ 6.1% ในปีนี้และ 4.7% ในปี 2567 แต่ก็ยังคงสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางหลายแห่ง แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะแตะระดับสูงสุดเร็ว ๆ นี้ที่ 5.25-5.5% ก่อนจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย "เล็กน้อย"ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
สำหรับยูโรโซน OECD คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงสูงอยู่ โดยจะแตะจุดสูงสุดในไตรมาส 3/2566 ก่อนที่ ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.25% จนถึงสิ้นปี 2567
ขณะเดียวกัน OECD มองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี 2567 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษมีแนวโน้มที่จะแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2566
OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโต 1.6% ในปีนี้ ก่อนจะชะลอตัวลงสู่การขยายตัว 1% ในปี 2567 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่อเค้ากระทบเศรษฐกิจสหรัฐมากเป็นพิเศษ หลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างล่าช้า โดยก่อนหน้านี้ OECD คาดว่า เศรษฐกิจของสหรัฐจะเติบโตขึ้น 1.5% ในปีนี้ และ 0.9% ในปี 2566 ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น 5.4% ในปี 2566 ก่อนชะลอตัวลงสู่การขยายตัว 5.3% ในปี 2567 โดยก่อนหน้านี้ OECD เคยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนไว้ว่าจะขยายตัวขึ้น 5.3% ในปี 2566 และ 4.9% ในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19
ในส่วนของเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัว 0.9% ในปีนี้ ก่อนจะขยายตัว 1.5% ในปีหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงเริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้น้อยลง โดยในเดือนมี.ค. OECD คาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนจะเติบโต 0.8% ในปี 2566 และ 1.4% ในปี 2567
ด้านเศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มที่จะเติบโต 0.3% ในปี 2566 และ 1% ในปี 2567 เนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่แท้จริงที่เริ่มดีขึ้น เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ OECD เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัว -0.2% ในปี 2566 และขยายตัว 0.9% ในปี 2567