ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในไตรมาส 2/2566 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5 จากระดับ 1 ในไตรมาสแรก และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส หลังจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานในญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายลง และต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ ดัชนีทังกันประจำไตรมาส 2 ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ผลิตรถยต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 23 ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งเดือนมิ.ย. 2562 จากระดับ 20 ในไตรมาส 1
ภาคบริการของญี่ปุ่นยังคงได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 รวมทั้งอุตหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
สำหรับในไตรมาส 3/2566 นั้น คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตญี่ปุ่นมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ 9 จากระดับ 5 ในไตรมาส 2 แต่คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการ จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20 ในไตรมาส 3 จากระดับ 23 ในไตรมาส 2
เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัทต่าง ๆ ปรับเพิ่มการลงทุน หลังจากที่พากันเลื่อนการลงทุนในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ขณะที่การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนยังคงฟื้นตัว แม้ว่าราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1/2566 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัวเพียง 1.6% หลังจากการใช้จ่ายในภาคธุรกิจดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว